บทความ:ข้อมูลท้องถิ่นกับการสอนภาษาไทย


ข้อมูลท้องถิ่นกับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย

                                                                     อรรถพร  สารานพกุล*

 

บทนำ

 

                ปัจจุบันประเทศไทยมีเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่  คือ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น  มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดใหม่มากมาย  มีผลผลิตที่จะส่งออกและนำเข้าเพิ่มมากขึ้น  มีการติดต่อลงทุนทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Community : AEC) ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนทำการค้าเป็นจำนวนมาก  เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และพบความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง พบคนที่มีฐานะร่ำรวยก็รวยจนเหลือกินเหลือใช้  คนที่ฐานะยากจนก็แทบจะไม่มีอะไรกิน ปัญหานี้มาพร้อมกับความเจริญทางด้านวัตถุ เทคโนโลยี 

อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเปิด ส่งผลให้มีการหลั่งไหลถ่ายเททางวัฒนธรรมในอัตราที่สูงและรวดเร็ว ทั้งในแง่การถ่ายเทวัฒนธรรมจากต่างประเทศ และการถ่ายเทวัฒนธรรมระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในสังคม คือ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเจตคติ ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และอื่นๆอีกมากมาย จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาการทิ้งสังคมถิ่นกำเนิดไปสู่สังคมเมืองที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า จนลืมหวงแหนและรักษาสิ่งที่มีคุณค่าที่อยู่คู่สังคมของตนมาช้านาน ผู้ศึกษาคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องกลับมาให้ความสำคัญ ในฐานะที่ผู้ศึกษาเป็นครูผู้สอนจึงมีแนวคิดว่าควรเริ่มต้นปลูกฝังจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เกิดความรัก ความหวงแหน และเกิดความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เพราะถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม หากทุกคนสนใจแต่ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ปล่อยปละละเลยให้คุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งที่ดีงามของท้องถิ่นให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลาก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจากการศึกษา โดยค่อย ๆ เสริมเติมเต็มและปลูกฝังสิ่งที่ดีงามของท้องถิ่นควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนได้ซึมซับคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัว ครูผู้สอนก็ได้รับประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนโดยนำข้อมูลท้องถิ่นที่อยู่รอบตัวใช้เป็นสื่อการสอนให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้เรียน

____________________________________________

*  ครูภาษาไทยโรงเรียนปาล์มพัฒนวิทย์ อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล    

       

ทำไมต้องศึกษาเรื่องข้อมูลท้องถิ่น

 

            ถวัลย์  มาศจรัส (2549 : 31) ได้กล่าวถึงเรื่องท้องถิ่น ไว้ว่า เรื่องของท้องถิ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความเป็นชาติของทุกประเทศ เพราะการที่จะรวมตัวเป็นประเทศได้นั้นต้องอาศัยพลังของความรัก ความหวงแหนในเรื่องภาษา ความคิด ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ความเชื่อ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวและเชื่อมโยงกับจิตสำนึกในความรักและความหวงแหนแผ่นดินถิ่นเกิดของตนทั้งสิ้น

                จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นท้องถิ่นไว้หลายประเด็น ดังเช่นได้มีการกล่าวถึงเรื่องท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 ว่า “บุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 80 (6) ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2553) มาตรา 7 ยังกล่าวถึงเรื่องกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า ในกระบวนการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ยังกล่าวถึงการจัดการศึกษา ในมาตรา ๒๓  ว่า การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และ      บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้  ใน (3) กล่าวถึงเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542  มาตรา 29 ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูลข่าวสารและรู้จักเลือกสรร ภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ และมาตรา 57 ให้หน่วยงานทางการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยนำประสบการณ์ความรอบรู้  ความชำนาญและภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาและยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดเรื่องของท้องถิ่นและชุมชนไว้ว่า ให้สถานศึกษาจัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  จัดทำสาระในรายละเอียดเป็นรายปีหรือรายภาคให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการศึกษามุ่งเน้นความสำคัญโดยยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาไทย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งพัฒนาคนไทยให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย  ส่วนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กล่าวไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเมื่อผู้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อ 5 ว่า ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคมและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข อีกทั้งยังกล่าวในเรื่องการจัดการเรียนรู้ ด้านบทบาทของผู้สอนและผู้เรียน ว่า ผู้สอนต้องจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และดูแลช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ อีกทั้งต้องจัดเตรียมและเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน  ด้านบทบาทผู้เรียน ต้องเสาะแสวงหาความรู้ เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อความรู้ ลงมือปฏิบัติจริง สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ  ในเรื่องของสื่อการเรียนรู้สถานศึกษาต้องจัดให้มีแหล่งการเรียนรู้ ศูนย์สื่อการเรียนรู้ ระบบสารสนเทศการเรียนรู้ และเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพทั้งในสถานศึกษาและในชุมชน เพื่อการศึกษาค้นคว้าและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ ระหว่างสถานศึกษา ท้องถิ่น ชุมชน สังคมโลก

จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่าข้อมูลท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา แม้ว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนโดยนำข้อมูลท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการจัดการเรียนการสอนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและใช้มานานแล้ว หากแต่ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนในสังคมที่ต้องกลับไปให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นครูผู้สอนยิ่งต้องมีหน้าที่ปลูกฝังให้นักเรียนได้รู้จักรัก หวงแหนและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง การที่ผู้ศึกษาเป็นครูภาษาไทยจึงเกิดความคิดว่า การนำข้อมูลท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นสื่อในการเรียนการสอนในรูปแบบของการจัดการเรียนที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยสอดแทรกในทักษะต่าง ๆ ของภาษาไทย และแทรกอยู่ในสาระต่าง ๆ ของภาษาไทยที่จัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งที่ดีงามที่อยู่คู่ท้องถิ่นของตน อีกทั้งยังได้ใช้สื่อการสอนที่มีอยู่ใกล้ตัวอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาเห็นความสำคัญและต้องการตอกย้ำให้ครูผู้สอนได้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลท้องถิ่นเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับทั้งตัวนักเรียนและต่อตัวครูผู้สอน เพราะหากเราจะคิดแต่ว่าการจัดการเรียนการสอนโดยนำข้อมูลท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและใช้มานานแล้ว จนปัจจุบันอาจจะเลิกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไปแล้วผู้ศึกษาก็เกรงว่าสิ่งสำคัญและคุณค่าเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำตามกระแสนิยมและปล่อยให้คุณค่าของสิ่งดีงามเช่นข้อมูลต่าง ๆ ในท้องถิ่นต้องกลายเป็นอดีตที่ผู้คนลืมเลือนเพราะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่นิยมนำมาใช้จัดการเรียนการสอน จนทิ้งร้างวัฒนธรรมและคุณค่าที่ดีงามที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ไป

 

ข้อมูลท้องถิ่นคืออะไร

 

                คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค  (2549 : 5)  ให้ความหมายของ “ข้อมูลท้องถิ่น” ไว้ว่า ข้อมูลท้องถิ่น หมายถึง เรื่องราว ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่น มีการประมวลผลแล้วนำมาจดบันทึกไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวัสดุสิ่งพิมพ์ เช่น โสตทัศนวัสดุ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเผยแพร่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลไปยังบุคคลอื่นสำหรับนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการศึกษาหรือทางอื่น ๆ ต่อไป

                และยังมีอีกคำหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องข้อมูลท้องถิ่น คือ คำว่า “สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น”  ถวัลย์          มาศจรัส (2549 : 40) ได้ให้ความหมายของคำว่า “สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น” ไว้ว่า สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น หมายถึง รายละเอียดของข้อมูลสารสนเทศรวมทั้งเนื้อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เช่นสภาพภูมิภาค ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ฯลฯ ตลอดจนสภาพปัญหาและสิ่งที่ควรได้รับการถ่ายทอดพัฒนาในชุมชนและสังคมนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน

                ส่วนคำว่า “หลักสูตรท้องถิ่น” ซึ่งเป็นหลักสูตรหลักที่ต้องนำข้อมูลท้องถิ่นหรือสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเข้าไปจัดทำเป็นหลักสูตร   อุดม  เชยกีวงศ์ (2545 : 6) ได้ให้ความหมายของคำว่า “หลักสูตรท้องถิ่น” ว่า หลักสูตรที่สถานศึกษาหรือครูหรือผู้เรียนร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในชีวิตจริง เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้อย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข 

                ฆนัท  ธาตุทอง (2550 : 156) ได้ให้ความหมายของ “หลักสูตรท้องถิ่น” ว่า หลักสูตรที่ท้องถิ่นสร้างขึ้นเองหรือการพัฒนามาจากหลักสูตรแกนกลาง โดยการปรับขยาย เพิ่ม หรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นมาใหม่ โดยมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของตน เรียนรู้อาชีพ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อนำไปแก้ปัญหา พัฒนาชีวิตของตนเอง ครอบครัวและท้องถิ่นได้

                การที่ผู้ศึกษาได้กล่าวถึงความหมายของ ข้อมูลท้องถิ่น  สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้ทราบว่า คำที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวของท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ในส่วนของหลักสูตรท้องถิ่น ดังที่กล่าวมาแล้วก็จำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลท้องถิ่นหรือสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเข้าไปจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

                แต่ในที่นี้ผู้ศึกษาขอกล่าวถึงเฉพาะคำว่า “ข้อมูลท้องถิ่น” เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปใช้บรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่น หรือนำมาเพื่อจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชา  และขอให้คำนิยามของคำว่า “ข้อมูลท้องถิ่น” ว่า “ข้อมูลท้องถิ่น” หมายถึง เนื้อหา องค์ความรู้ เรื่องราว ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่น ในด้านต่าง ๆ เช่นสภาพภูมิภาค ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ฯลฯ ตลอดจนสภาพปัญหาและสิ่งที่ควรได้รับการถ่ายทอดพัฒนาในชุมชนและสังคมนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ รัก หวงแหน และเห็นคุณค่าในท้องถิ่นของตน

                ถวัลย์  มาศจรัส (2549 : 52) ได้กล่าวถึงข้อมูลท้องถิ่น โดยกำหนดเป็นกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไว้ดังนี้

๑.      สาระด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและสังคม ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประชากร การปกครอง การศึกษา

๒.    สาระด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ได้แก่ การตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

๓.     สาระด้านมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่น  มรดกทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่ป่า  พืชพรรณไม้ สัตว์นานาชนิด แร่ธาตุและรัตนชาติ ต้นน้ำ ลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ  มรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ โบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ อุทยานประวัติศาสตร์ นครประวัติศาสตร์ ย่านประวัติศาสตร์ แหล่งอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมดีเด่น รูปปั้นอนุสาวรีย์ สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

๔.     สาระด้านศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น ได้แก่ ประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม เครื่องจักรสาน เครื่องถมและเครื่องปั้นดินเผา

๕.     สาระด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่  ภาษา จารึก ตำนาน ตำราต่าง ๆ วรรณกรรมพื้นบ้านทั้งที่เป็นมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร

๖.      สาระด้านการละเล่นพื้นบ้านและนาฏศิลป์ ได้แก่ การละเล่นของเด็ก การละเล่นของผู้ใหญ่ เช่น มหรสพ ดนตรี เพลงพื้นบ้าน กีฬา นาฏศิลป์ การแสดงต่าง ๆ

๗.     สาระด้านศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม ได้แก่ ศาสนบุคคล เช่น หมอผี หมอตำแย พระสงฆ์ ผู้นำศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น ศาสนธรรม เช่น หลักธรรมคำสอน ปรัชญา คำสอนที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา เป็นต้น ศาสนสถาน เช่น วัด หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรม ศาสนกิจ ของศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น ศาสนพิธี เช่น พิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อต่าง ๆ เป็นต้น  ศาสนสมบัติ เช่น รูปเคารพ ปูชนียวัตถุ อาคารและที่ดิน เป็นต้น

๘.     สาระด้านขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ การแต่งกาย การกินอยู่ กิริยามารยาท ประเพณีที่คนในท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติ เป็นต้น

๙.      สาระด้านภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น 

๑๐.  สาระด้านเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ได้แก่ สิ่งที่ดีงามอันแสดงลักษณะพิเศษที่ปรากฏอย่างเด่นชัด เช่นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ พรรณไม้ และทรัพยากรอื่น ๆ  เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น    หัตกรรมทางช่างฝีมือ  ศิลปกรรม วัฒนธรรมอาหารการกิน ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาถิ่น เป็นต้น

๑๑. สาระด้านบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ได้แก่ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์  บุคคลสำคัญในทางวัฒนธรรม บุคคลที่มีคุณงามความดีสร้างเกียรติภูมิให้ท้องถิ่น เป็นต้น

๑๒.            สาระด้านพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างชลประทาน ฝายน้ำ พัฒนาทางด้านการเกษตรและการส่งเสริมอาชีพ การสาธารณสุขและสาธารณูปการ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

            จะเห็นว่าข้อมูลท้องถิ่นที่มีคุณค่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อมูลท้องถิ่นนั่นก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในท้องถิ่นของเราและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การใช้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงใช้สอยให้หมดไป แต่เป็นการใช้เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะเป็นครูผู้สอนจึงจำเป็นที่ต้องให้นักเรียนเรียนรู้และเกิดความตระหนัก รัก หวงแหนและภาคภูมิใจในคุณค่าของท้องถิ่นของตน อีกทั้งนักเรียนจะได้เรียนรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองให้คงอยู่ต่อไป

 

นำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทยได้อย่างไร

 

                ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าวิธีการสอนโดยการนำข้อมูลท้องถิ่นหรือสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการจัดการเรียนการสอนหรือที่เรียกอีกอย่างว่ามา “บูรณาการกับรายวิชา” นั้นเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องเดิมที่ครูผู้สอนคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานแล้ว จนบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย แต่ผู้ศึกษาคิดว่าเรื่องราวหรือข้อมูลท้องถิ่นไม่เคยมีความล้าสมัยเพราะสามารถหยิบยกขึ้นมาเล่าขานพร้อมทั้งใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าให้ท้องถิ่นนั้น ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น

                ผู้ที่เป็นครูผู้สอนคงจะมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการเรียนการสอนมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยการจัดการเรียนการสอนนั้นมีหลากหลายวิธี ทั้งการใช้รูปแบบวิธีการสอนแบบต่าง ๆ  ทั้งการสร้างสื่อนวัตกรรม หากแต่หลายท่านยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นสื่อการสอนที่มีคุณค่าเข้ามาบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอน หากครูผู้สอนนำข้อมูลท้องถิ่นเข้ามาบูรณาการกับวิธีการสอนแต่ละวิธีหรือการสร้างสื่อนวัตกรรมแต่ละชิ้น ก็จะทำให้วิธีการสอนหรือนวัตกรรมชิ้นนั้นเป็นวิธีสอนและนวัตกรรมที่มีคุณค่าควรแก่การเรียนรู้มากขึ้น เพราะนอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้จากวิธีสอนหรือสื่อนวัตกรรมนั้นแล้ว นักเรียนยังได้เกิดความตระหนัก รัก หวงแหน และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนอีกด้วย

                เบญจมาศ   อยู่เป็นแก้ว  (2545 : 6) กล่าวถึงการบูรณาการ ไว้ว่า การบูรณาการ คือ การเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ประมวลความรู้หลากหลายและประสบการณ์ที่แตกต่างมาร้อยเรียง เพื่อสร้างประเด็นหลัก (Theme) และหัวข้อเรื่อง (Topic) แล้วนำความรู้มาสัมพันธ์กับหัวข้อนั้น ๆ มาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนและลงมือกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง

                พรพันธุ์  เขมคุณาศัย และคณะ (2554 : 4) กล่าวถึง การบูรณาการ ไว้ว่า การบูรณาการ หมายถึง การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน โดยอาศัยกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ และการคิดระดับสูง 5 แบบ เป็นฐานความรู้ คือ การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดบูรณาการ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดสร้างสรรค์

                ดังนั้นการบูรณาการ คือ การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาจัดการเรียนการสอนในสาระวิชา เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และตระหนัก รัก หวงแหน และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

                พรพันธุ์  เขมคุณาศัย (2554 : 77) กล่าวว่า การพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนด้วยการฝึกปฏิบัติจริงในชุมชน เป็นการก้าวข้ามแนวคิดการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางไปสู่แนวคิดที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เปลี่ยนการผูกขาดความรู้จากตำราหรือตัวครูในฐานะแหล่งเรียนรู้หลักเพียงแหล่งเดียวสู่พื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย เปลี่ยนเครื่องมือและวิธีการใหม่ในการเปิดแหล่งความรู้และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ แก่ผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการการเรียนรู้กับเรื่องราวชีวิต และวิถีความเป็นไปของท้องถิ่น สังคมในระดับภูมิภาค ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ

                ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก โดยใช้รูปแบบวิธีสอนที่เหมาะสม อีกทั้งต้องคำนึงถึงแหล่งความรู้ สื่อ นวัตกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ            “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” จัดเป็นข้อมูลท้องถิ่นประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาจัดเป็นองค์ประกอบหรือบูรณาการกับการเรียนการสอนได้

                กรมวิชาการ (2539 : 13) ได้กล่าวถึง การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนว่า ครูผู้สอนต้องตระหนัก เห็นความสำคัญ และเห็นคุณค่าของการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องศึกษา สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนตลอดจนเชิญวิทยากรในท้องถิ่น ร่วมวางแผนและจัดกิจกรรมร่วมกับครูผู้สอน

                เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นข้อมูลท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วนมีความสำคัญและสามารถนำมาใช้จัดการเรียนการสอนได้ทั้งสิ้น  ครูภาษาไทยในฐานะครูผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดภูมิปัญญาทางภาษาจึงต้องมีบทบาทในเรื่องนี้โดยตรง และต้องเร่งร่วมแรงร่วมใจกันปลูกฝังให้เยาวชนเกิดความตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่นซึ่งจะนำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

                พรรณฤนันท์  ละอองผล (2546 : 43) กล่าวว่า วิชาภาษาไทยเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติของชาติที่จะต้องอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป ครูภาษาไทยจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทในการนำภูมิปัญญาไทย ข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการศึกษา โดยกล่าวถึงบทบาทสำคัญของครูภาษาไทยว่า 1) ต้องเป็นผู้ที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย  2) ต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาไทย  3) ต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์คุณค่าของภูมิปัญญาไทย  และ 4) ต้องเป็นผู้นำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

                จากบทบาทสำคัญของครูภาษาไทยดังกล่าวนั้นทำให้ผู้ศึกษาเห็นความสำคัญเรื่องข้อมูลท้องถิ่นกับการจัดการเรียนการสอน และคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่ครูจะดึงเอาภูมิปัญญาหรือข้อมูลท้องถิ่นมาใช้งานได้อย่างไร หรือจะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจและศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่นแล้วก็พอจะเห็นช่องทางมากมายที่ครูสามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยได้อย่างไม่ยาก เพียงแค่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

                การใช้ข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนนั้น ทำได้โดยการเลือกข้อมูลท้องถิ่นที่สถานศึกษาตั้งอยู่ มาใช้จัดการเรียนการสอนโดยข้อมูลท้องถิ่นนั้นเป็นข้อมูลท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวนักเรียนและครูผู้สอนมากที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักเรียนเห็น รู้จัก คุ้นเคยและตรงตามประสบการณ์ของนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะได้รู้จักเรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว 

พรรณฤนันท์  ละอองผล (2546 : 45) กล่าวว่า การเลือกภูมิปัญญาจากแหล่งหรือท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่มาจัดการเรียนการสอน เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ตรงตามหลักการเรียนรู้ คือ เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวแล้วจึงเรียนรู้เรื่องไกลตัว  เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเยาวชนไทยเรียนรู้เรื่องราวรอบโลก แต่ไม่รู้เรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การขาดความรักความผูกพันในท้องถิ่นและการละทิ้งถิ่นฐานเดิม

การละทิ้งถิ่นฐานถือเป็นปัญหาที่สำคัญและกำลังเกิดขึ้นในประเทศ ผู้คนเข้าไปแออัดอยู่ในสังคมเมืองจนเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่ครูทำได้ คือ การดึงเยาวชนหรือนักเรียนให้มีความคิดและจิตสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด

ข้อมูลท้องถิ่นมีหลากหลายประเภทตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นซึ่งได้จัดเป็นหมวดหมู่ เป็นสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ครูสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะกับระดับชั้นและให้เหมาะกับเนื้อหาที่ต้องการสอน ซึ่งวิชาภาษาไทยนั้นสามารถนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ

พรรณฤนันท์  ละอองผล (2546 : 46) กล่าวถึงเรื่องการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทยว่า  สามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน สามารถนำมาใช้พัฒนาได้ทุกทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และดู และสามารถใช้ฝึกได้ทั้งการคิดขั้นพื้นฐานและในระดับวิจารณญาณ  เช่น

1. ฝึกทักษะการฟัง  อาจใช้บทร้องเล่น นิทาน ตำนาน เพลงพื้นบ้าน โดยครูเป็นผู้อ่านหรือจัดทำเป็นแถบบันทึกเสียงให้นักเรียนฝึกจับใจความสำคัญจากการฟัง

2. ให้นักเรียนนำเสนอที่ที่ได้จากการฟังด้วยการพูด หรือให้นักเรียนฝึกทักษะการพูด เช่น สัมภาษณ์ผู้รู้ในท้องถิ่น การตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้น

3. การฝึกทักษะการอ่าน อาจใช้ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี นิทาน ตำนาน ความเชื่อในท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคมาจัดทำเป็นบทอ่านในลักษณะของสื่อการอ่าน ให้นักเรียนฝึกจับใจความสำคัญจากการอ่าน ให้อ่านแล้วตอบคำถาม

4. ด้านการฝึกทักษะการเขียน อาจทำได้โดยให้เขียนสรุปจากสิ่งที่อ่านหรือฟัง เขียนแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึ

5. การฝึกทักษะการคิดทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าได้ เช่น อาจตั้งคำถามว่า เหตุใดในท้องถิ่นจึงมีความเชื่อเช่นนี้  นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างไร หรือนักเรียนจะช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีเหล่านี้ได้อย่างไร เป็นต้น

6. ส่วนการฝึกทักษะการดู ฝึกได้โดยการนำของจริงมาให้นักเรียนดู ซึ่งอาจเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี การประกอบอาชีพของชาวบ้านในท้องถิ่น เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตและทำมาหากินต่าง ๆ ให้ฝึกการสังเกต คิดและวิเคราะห์ เช่น เหตุผลในการจัดประเพณี  การแก้ปัญหา  วิธีการการทำเครื่องใช้  วัสดุที่ใช้ทำ เพราะเหตุใดท้องถิ่นนี้จึงต้องใช้วัสดุชนิดนี้ เป็นต้น  โดยดูแล้วให้แสดงความคิดเห็นโดยการพูดที่ใช้เหตุผล เพื่อเป็นการฝึกให้นักเรียนได้คิดอย่างมีวิจารณญาณ  รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าสิ่งที่ดู

แนวทางการได้มาซึ่งข้อมูลท้องถิ่น  จากประสบการณ์การสอนพบว่าเมื่อพูดถึงการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอน ครูมักจะวิตกกังวลว่าจะต้องมีกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูลท้องถิ่นนั้นอย่างไร ผู้ศึกษาขอเสนอแนะแนวทางการได้มาซึ่งข้อมูลท้องถิ่นดังนี้

  1.  ศึกษาลักษณะสภาพภูมิภาค ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา  ตลอดจนสภาพปัญหาและสิ่งที่ควรได้รับการถ่ายทอดพัฒนาในชุมชนและสังคมนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ รัก หวงแหน และเห็นคุณค่าของท้องถิ่น
  2. ให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลที่อยู่ในท้องถิ่นของตน โดยอาจแบ่งเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามที่กล่าวมาแล้วข้างตน ในส่วนนี้จะได้มาซึ่งข้อมูลทั่วไปว่า มีข้อมูลท้องถิ่นใดบ้าง และมีวิทยากรหรือมีใครผู้ให้ข้อมูลความรู้เรื่องข้อมูลท้องถิ่นเรื่องนั้น ๆ ได้บ้าง
  3. จัดทำทะเบียนข้อมูลท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ หรือบางโรงเรียนอาจใช้คำว่า ทะเบียนแหล่งเรียนรู้ในส่วนนี้ครูต้องหาข้อมูลโดยลึกของข้อมูลท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจลงพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อจะได้พบกับผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในข้อมูลท้องถิ่นเรื่องนั้น ๆ

แนวทางการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  วิเชียร วงค์คำจันทร์ (สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2555, จากhttp://school.obec.go.th/bankudchiangmee/vicakan3.htm) กล่าวถึงวิธีการและแนวทางการนำแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนดังนี้

1. กำหนดจุดประสงค์จากผลการเรียนที่คาดหวังให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใดบ้างจากบทเรียนนั้น เพื่อจะได้สร้างสื่อ หรือเลือก แหล่งเรียนรู้ ให้สัมพันธ์กับจุดมุ่งประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอน

2. ศึกษาผู้เรียน โดยพิจารณาถึงวัย ระดับชั้น ความรู้ ประสบการณ์ และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกใช้แหล่งเรียนรู้

3. ศึกษาธรรมชาติของเนื้อหา สาระ ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แต่ละเรื่อง อาจมีลักษณะเฉพาะบางเรื่องด้วยการปฏิบัติจริง หรือเรียนรู้จริง ดูการสาธิตจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น และบางเรื่องต้องอาศัยจากการสืบค้นข้อมูล การฟัง การดู และการอ่าน

4. พิจารณาประโยชน์และความคุ้มค่าของแหล่งเรียนรู้ว่าสามารถเร้าความสนใจ สื่อความหมายและประสบการณ์การเรียนการสอนแก่ผู้เรียน การจัดประสบการณ์ เรียนรู้แก่ ผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง

5. หาประสิทธิภาพของสื่อและแหล่งเรียนรู้ โดยการปรับปรุงสื่อที่จัดไว้ เพื่อเป็นการปรับคุณภาพของสื่อว่าเหมาะสม ในการนำไปใช้

จะเห็นว่าการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนไม่ยากอย่างที่คิด ครูบางคนมีความกังวลในเรื่องการลงพื้นที่หาข้อมูลท้องถิ่น หรือกังวลเรื่องการนำนักเรียนลงพื้นที่ศึกษาแหล่งข้อมูลท้องถิ่น หากสิ่งนั้นทำได้ยากหรือเป็นสิ่งที่ครูกังวลก็จะเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของตนได้อย่างลุ่มลึก ดังที่กล่าวแล้วว่าการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนนั้นสามารถทำได้หลายวิธี  เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลท้องถิ่นบางครั้งครูไม่ต้องลงทุนลงแรงแต่อย่างใด เพียงแค่วางแผนดำเนินการที่เหมาะสมก็สามารถจัดการได้อย่างหลากหลายวิธีตามแต่ครูผู้สอนจะดำเนินการ สิ่งสำคัญครูต้องเลือกข้อมูลท้องถิ่นให้สอดคล้องกับเนื้อหา สาระการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างบรรลุผลเท่านั้น

               

งานวิจัยใดบ้างที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดเรียนการสอนภาษาไทย

               

จากการศึกษาพบว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เป็นต้นมาได้มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่เลือกนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อสนองต่อเจตนารมณ์ตามหลักการจัดการศึกษาที่ประกาศใช้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ในเรื่องของการนำข้อมูลท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการจัดการเรียนการสอน  โดยการศึกษาครั้งนี้ขอวิเคราะห์ตามสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งแบ่งเป็น สาระการอ่าน  สาระการเขียน  สาระการฟัง การดูและการพูด หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม โดยเฉพาะสาระการอ่าน  สาระการเขียน  ซึ่งเป็นสาระที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนหากมีการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอีกทั้งมีผู้ศึกษาและทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับสาระดังกล่าวไว้หลายเรื่องดังจะกล่าวต่อไป

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยอยู่เป็นจำนวนมากที่ใช้ข้อมูลท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย โดยผู้ศึกษาขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นเป็นแนวทางเรื่องการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยดังนี้

1. สาระการอ่าน  ส่วนใหญ่แล้วจะนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนโดยใช้ในการสร้างสื่อ นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาการอ่าน เช่นการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสือส่งเสริมการอ่าน แบบฝึกการอ่าน เป็นต้น  

ประพิณพร เย็นประเสริฐ (2548 :2) พบปัญหาในการจัดการเรียนการสอนคือจากสภาพการ         จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอ่านจับใจความ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประการ และที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ (1) วิธีการสอนที่ไม่มีการกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดและแสดงความคิดเห็นจากการอ่าน (2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน กิจกรรมไม่เร้าใจ และ (3) สื่อการสอนที่ใช้แต่แบบเรียนภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ ไม่สอดคล้องและกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านทักษะการอ่านจับใจความตกต่ำไม่เป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตร จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยเลือกการสร้างแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทยมาศึกษา เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาด้านการอ่านจับใจความ โดยคำนึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน เป็นการจัดสภาพการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรม การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงของตนเองในท้องถิ่น เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาไปทีละน้อย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเป็นสื่อ เป็นวิธีการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นสำคัญและใช้วิธีการที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้เรียนรู้จากการทำแบบฝึกหลาย ๆ อย่างนักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ตามความสามารถของตนเองทีละน้อย ๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีความกระตือรือร้น ไม่เบื่อกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่ได้กำหนดไว้ในแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้สื่อท้องถิ่นนนทบุรีเป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านจับใจความ และพัฒนาการสอนอ่านจับใจความให้ดียิ่งขึ้น  วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ  1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทย โดยใช้สื่อท้องถิ่นนนทบุรี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3    2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการอ่านจับใจความภาษาไทย ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

จากการสร้างแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทย ผลการวิจัยปรากฏว่า แบบฝึกการอ่าน             จับใจความภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้สื่อท้องถิ่นนนทบุรีมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์เรื่องการอ่านจับใจความสำคัญ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อีกทั้งพบว่าจุดเด่นของแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้สื่อท้องถิ่นนนทบุรีอยู่ที่กิจกรรมและสื่อ กิจกรรมที่จัดให้นักเรียนได้ปฏิบัตินั้นมีหลายอย่าง เช่น เพลง คำถามจากเรื่องราวของท้องถิ่นที่ใกล้ตัวของผู้เรียน ทำให้นักเรียนสนใจเรียน กิจกรรมเหล่านี้มีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กับเนื้อหาทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนได้ง่าย

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้รับความสนใจ ทั้งนี้เพราะได้เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นตนเอง เกิดความต้องการอยากเรียนในสิ่งใกล้ตัว มีความผูกพันในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเหมาะสมและง่ายต่อการทำความเข้าใจของนักเรียน

ศิริพร  พรหมมณีและคณะ (2547 : 78) พบปัญหานักเรียนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน จึงเป็นสาเหตุให้การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยไม่เกิดทักษะพื้นฐานครบทั้ง 4 ด้าน หนังสือส่งเสริมการอ่านนับได้ว่าเป็นการเรียนการสอนที่ดีและมีความสำคัญยิ่งในการที่จะให้ผู้เรียนพัฒนาการอ่านได้มากขึ้น โดยเฉพาะการที่ได้อ่านเรื่องที่ตนเองสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือเกี่ยวกับท้องถิ่นของตน คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเรื่อง การสร้างบทร้อยกรองนิทานพื้นบ้าน จังหวัดเลย เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านวิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนภูเรือวิทยา  อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างบทร้อยกรองจากนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลยเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน วิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนภูเรือวิทยา  อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย  อีกทั้งเพื่อหาประสิทธิภาพของนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลย และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทร้อยกรองนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลย  

จากการศึกษาคณะผู้วิจัยพบว่า บทร้อยกรองนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลย สามารถใช้เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านวิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนภูเรือวิทยา  อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ได้เป็นอย่างดี เพราะบทร้อยกรองนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลย มีประสิทธิภาพสุงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด  นักเรียนและผู้เชี่ยวชาญมีความพึงพอใจต่อเนื้อหาบทร้อยกรองนิทานพื้นบ้าน พึงพอใจกับรูปลักษณ์ของหนังสือ และมีความคิดเห็นว่าเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ทำให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นของตนเอง

จากตัวอย่างที่ผู้ศึกษาได้นำมาเสนอล้วนแต่เป็นการสร้างสื่อ นวัตกรรมการสอน โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น ซึ่งครูผู้สอนมีส่วนช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในวัฒนธรรม และเห็นคุณค่าของท้องถิ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางด้านทักษะทางภาษา

2. สาระการเขียน  ผู้ศึกษาพบข้อมูลงานวิจัยที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ถึงปัจจุบัน น้อยมาก ดังจะยกตัวอย่างงานวิจัยในสาระการเขียนที่มีการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนด้านการเขียน 2 เรื่อง ได้แก่  งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และงานวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนสะกดคำภาษาไทยก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี(S-R)2 โดยใช้สื่อภูมิปัญญาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 

วงเดือนแสงผึ้ง (2548 : 130) พบปัญหาวิจัยคือ เมื่อพิจารณาจากการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุงอำเภอกระทุ่มแบนจังหวัดสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2543 – 2545พบว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่าจุดประสงค์ที่นักเรียนไม่ผ่านเป็นอันดับที่ 1 ได้แก่ จุดประสงค์ที่ 14 การเขียนสะกดคำโดยใช้คำพื้นฐานที่กำหนดให้ จากสภาพปัญหาการเขียนสะกดคำ และผลการเรียนรู้อยู่ในเกณฑ์ระดับต่ำนี้ หากไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขก็จะส่งผลต่อการศึกษาของนักเรียนที่จะเรียนวิชาภาษาไทยในระดับสูงขึ้นต่อไป และจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และระดับชั้นอื่นๆ พบว่า สาเหตุสำคัญของการประสบปัญหาทางการเรียนวิชาภาษาไทยดังกล่าวคือนักเรียนยังขาดความรู้ด้านหลักเกณฑ์ทางภาษาขาดทักษะในการเขียนสะกดคำมีพื้นฐานในการเขียนสะกดคำไม่แม่นยำขาดการใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวัยและระดับชั้น

จึงทำให้ผู้วิจัยศึกษาเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  2) เพื่อพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80  3) เพื่อทดลองใช้แบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4) เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ด้านการเขียนสะกดคำ และปรับปรุงแก้ไขแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่3โดยเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกการเขียนสะกดคำและศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น

ผลการวิจัย 1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่3พบว่านักเรียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการให้มีการพัฒนาแบบฝึกให้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่นในอำเภอกระทุ่มแบน ที่มีความสำคัญและควรค่าต่อการเรียนรู้ได้แก่อาชีพที่สำคัญในท้องถิ่นและสถานที่สำคัญในท้องถิ่นประกอบด้วยการทำสวนกล้วยไม้การทำเบญจรงค์วัดราษฎร์บำรุงวัดนางสาว สถานีอนามัยบ้านทองหลางส่วนรูปแบบของแบบฝึกควรมีสีสวยงามมีรูปภาพการ์ตูนประกอบมีเนื้อหาที่ให้ความรู้และสนุกสนานใช้ภาษาที่กะทัดรัดเข้าใจง่ายรวมทั้งต้องการให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน     2) แบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด  3) แบบฝึกต่าง ๆที่นำมาทดลองใช้เป็นแบบฝึกที่มีประสิทธิภาพโดยทดลองใช้แบบฝึกกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความตั้งใจกระตือรือร้น สนุกสนานในการปฏิบัติกิจกรรมสามารถทำแบบฝึกและทำชิ้นงานได้ คือ แผนผังความคิด แผ่นพับ หนังสือเล่มเล็ก สมุดบัญชีคำ และสมุดบันทึก และ 4) ทำให้ผลการเรียนรู้ในการเขียนสะกดคำของนักเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสูงกว่าก่อนเรียน

และที่สำคัญนักเรียนให้ความคิดเห็นว่า แบบฝึกทำให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนสะกดคำและเข้าใจท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีรูปแบบน่าสนใจ ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้วิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งนักเรียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการให้มีการสร้างแบบฝึกให้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่นที่มีความสำคัญและควรค่าต่อการเรียนรู้ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาควรเริ่มจากเรื่องราวที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่คุ้นเคยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและสภาพแวดล้อมภายในท้องถิ่นของตนเพื่อให้เกิดทักษะในการเรียนรู้ต่อไป

จิตติญา กล่อมเจ๊ก (2551 : 2) พบปัญหา คือ นักเรียนโรงเรียนวัดเวฬุวนาราม ไม่สามารถเขียนสะกดคำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง และนักเรียนบางคนสามารถเขียนสะกดคำได้ถูกต้องขณะเรียนรู้ แต่ผ่านไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็ลืม ซึ่งนักเรียนอาจไม่ทราบความหมายของคำที่เขียน ดังนั้น ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะสามารถช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการเขียนสะกดคำได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา โดยจัดกิจกรมการเรียนที่เหมาะสมกับระดับชั้น วัย ความสามารถ และความสนใจของนักเรียน จึงได้ศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนสะกดคำภาษาไทยก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี(S-R)2 โดยใช้สื่อภูมิปัญญาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนสะกดคำภาษาไทยก่อนเรียนและหลังเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี (S-R)2 โดยใช้สื่อ ภูมิปัญญาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และเพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนรู้การเขียนสะกดคำภาษาไทย ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อภูมิปัญญาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  

จากผลการวิจัย พบว่า 1) การเขียนสะกดคำภาษาไทยหลังเรียนสูงขึ้น จากคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เป็นเพราะการจัดการเรียนรู้ที่ใช้สื่อภูมิปัญญาไทย ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดและจำสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจได้ง่าย เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้การเขียนสะกดคำ 5 คำ โดยใช้สื่อภูมิปัญญาไทยพร้อมกับการทำแบบฝึกการเขียนสะกดคำ  2) เมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบหลังเรียนและความคงทนในการเรียนรู้ การเขียนสะกดคำภาษาไทย โดยสื่อมิปัญญาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนไปแล้ว 2 สัปดาห์ พบว่าการทดสอบความคงทน ในการเขียนสะกดคำ ไม่แตกต่างกัน นักเรียนยังมีความคงทนในการเรียนรู้  กล่าวได้ว่าความคงทนในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนรู้นั้นมีคุณภาพเพียงใด การเรียนที่เข้าใจลึกซึ้งจะช่วยให้ลืมช้าและช่วยความคงทนของการเรียนรู้ดีขึ้น  อย่างไรก็ดีความจำของเด็กในวัยประถมศึกษาตอนต้น อาจจะจำดีก็ต่อเมื่อเด็กได้เห็นสิ่งนั้นบ่อยๆจนเกิดการจำได้และลืมยาก ซึ่งในการเรียนวิชาภาษาไทย การเขียนสะกดคำ ถือว่าเป็นทักษะที่ยากที่สุดสำหรับเด็กเล็ก การใช้สื่อ         ภูมิปัญญาไทยที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกคิดและแสดงความคิดเห็น จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเกิดความทรงจำได้ดีวิธีหนึ่ง

   จากตัวอย่างงานวิจัยที่ผู้ศึกษานำมาเสนอนั้น แม้ว่าจะมีเพียง 2 เรื่องที่ใช้ข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอนในสาระการเขียน แต่ทั้ง 2 เรื่องต่างก็ให้ความสำคัญกับข้อมูลท้องถิ่นทั้งสิ้น และโดยการใช้ข้อมูลท้องถิ่นเป็นสื่อ นวัตกรรมการสอน หรือนำมาใช้ควบคู่กับแนวคิดทฤษฎีการสอนก็สามารถกระทำได้ ตามกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู

3. สาระการฟัง การดู และการพูด  เป็นสาระที่ผู้ศึกษาไม่พบงานวิจัยที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหา อาจเป็นเพราะทักษะการฟัง การดู และการพูด นั้นสามารถจะกระทำได้ต่อเนื่องจากทักษะการอ่านและการเขียน โดยได้กล่าวมาข้างต้นว่า เรื่องการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทย สามารถทำได้หลายรูปแบบ เมื่อนักเรียนอ่าน หรือเขียนแล้วนักเรียนก็สามารถนำสิ่งที่อ่านหรือเขียนได้นั้นผ่านกระบวนการคิด แล้วนำเสนอผลงาน จนเกิดความภาคภูมิใจได้  ในสาระการฟัง การดูและการพูด เป็นสาระที่น่าสนใจที่ผู้ศึกษาคิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถนำข้อมูลท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรียนการสอนได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของข้อมูลท้องถิ่นกับเนื้อหาสาระที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้

4. สาระหลักภาษา เป็นอีกสาระหนึ่งที่ผู้ศึกษาไม่พบงานวิจัยที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอน แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีงานวิจัยมารองรับ ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนการผู้นำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอนในสาระหลักภาษานั้น ก็อาจจะนำมาใช้จัดการเรียนการสอนในเรื่องภาษาถิ่น หรือการเปรียบเทียบคำ หน่วยคำ หรือประโยค ของภาษาถิ่นกับภาษาทางการ ก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูที่ต้องการให้นักเรียนรับสาระความรู้นั้น ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

5. สาระวรรณคดี วรรณกรรม เป็นสาระที่พบงานวิจัยที่ควบคู่กับสาระการอ่านเสมอ เช่น จัดทำหนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานพื้นบ้าน ดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งนิทานพื้นบ้านจัดเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่นักเรียนควรเรียนรู้  แต่ถึงกระนั้นแล้วหากไม่มีงานวิจัยรองรับในการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนในสาระวรรณคดี วรรณกรรม ครูผู้สอนอาจจะจัดการเรียนการสอนได้โดยนำ เรื่องเล่า  ตำนาน นิทานหรือแม้แต่เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งถือเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น มาให้นักเรียนได้ศึกษาหรือค้นคว้าข้อมูลจากท้องถิ่นของตนได้ตามกระบวนการจัดการเรียนรู้และตามความเหมาะสมที่ครูผู้สอนเห็นสมควร

จากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทยทั้ง 5 สาระนั้น ผู้ทำงานวิจัยต่างก็เล็งเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผู้วิจัยแต่ละท่านต่างก็มีแนวความคิดที่สำคัญตรงกัน คือ ต้องการให้นักเรียนมีจิตสำนึก เกิดความตระหนัก รัก หวงแหน และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน โดยอาศัยการศึกษาเป็นตัวเชื่อมโยงแนวความคิด ครูภาษาไทยจึงมีบทบาทสำคัญในการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน และควรกระทำอย่างจริงจัง โดยการหาข้อมูล ความรู้ และวิธีการจัดการกับข้อมูลท้องถิ่นที่ครูมีอยู่ใกล้ตัว 

อีกงานวิจัยหนึ่งที่ผู้ศึกษา พบว่ามีกลุ่มหรือบุคคลที่สนใจเรื่องข้อมูลท้องถิ่นและเล็งเห็นว่าข้อมูลท้องถิ่นมีความสำคัญในการนำมาจัดการเรียนการสอน โดยผู้วิจัยใช้วิธีการจัดทำเป็นหลักสูตรอบรมให้กลุ่มครูเพื่อนำหลักสูตรท้องถิ่นมาเขียนเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ดังตัวอย่างงานวิจัยของ บุปผา  พงษ์ไพบูลย์  เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับครูประถมศึกษา

บุปผา  พงษ์ไพบูลย์  (2548 : 4)  กล่าวว่า การเรียนรู้เรื่องของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ครูผู้สอนในแต่ละชุมชนจะต้องคำนึงถึงโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกด้านทั้งในด้านวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและสถานที่สำคัญต่างๆรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นการปลูกฝังให้มีความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของท้องถิ่นของตนนั้นครูผู้สอนสามารถค้นคว้าข้อมูลต่างๆรวบรวมจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนประเภทหนังสืออ่านเพิ่มเติมให้นักเรียนได้ศึกษาเป็นการสร้างความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ข้อมูลที่ครูสามารถนำมาเขียนเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมได้แก่ข้อมูลของท้องถิ่นรอบๆโรงเรียนนั่นเอง  เนื่องจากทุกท้องถิ่นย่อมมีประวัติความเป็นมามีวิถีชีวิตและสถานที่แตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีสิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมในแต่ละชุมชนแตกต่างกันบุคคลในแต่ละชุมชนมีความภาคภูมิใจในด้านต่างๆไม่เหมือนกันดังนั้นการจะปลูกฝังความรักความหวงแหนความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนได้จะต้องให้บุคคลในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเองอย่างลึกซึ้งอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นชุมชนที่เข็มแข็งครูจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นของตนตั้งแต่ยังเล็ก

บุปผา  พงษ์ไพบูลย์  (2548 : 5) พบว่า จากการนิเทศติดตามผลการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าม่วงทั้ง43 โรงเรียน ในช่วงปีการศึกษา 2542 – 2545 ครูผู้สอนยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ได้ผลดีตามแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.. 2542 มาตรา 23 (1) ในด้านความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคมได้แก่ครอบครัวชุมชนชาติและสังคมโลกรวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยทั้งๆที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าม่วงได้จัดทำโครงการรวบรวมข้อมูลแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นโดยจัดทำเอกสารข้อมูล“แหล่งเรียนรู้คู่ท่าม่วง”และดำเนินการพัฒนาครูในด้านการพัฒนาสื่อเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้(สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าม่วง 2543) รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ครูระดับประถมศึกษาและนักเรียนเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นส่งเข้าประกวดตามโครงการประกวดหนังสือเด็กของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติและโครงการประกวดต้นฉบับหนังสือสำหรับค้นคว้า 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังไม่มีครูและนักเรียนในสังกัดอำเภอท่าม่วงมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล รวมทั้งยังมีครูน้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนครูทั้งหมดที่มีความสามารถในการพัฒนาสื่อประเภทหนังสือ อ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของตน

จากความสำคัญของหนังสืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้นผู้วิจัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์มีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความเห็นว่าควรพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อจะได้นำความรู้ต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่นเช่นประวัติความเป็นมาสถานที่สำคัญประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมทั้งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเป็นแหล่งค้นคว้ารวมทั้งครูจะได้มีความรู้ในเทคนิควิธีการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมไปพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาไทย สาระที่ 2 การเขียน ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ คือ มาตรฐาน ท 2.1 :ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสารเขียนเรียงความย่อความและเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆเขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ

บุปผา  พงษ์ไพบูลย์  (2548 : 6) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ครูผู้สอนมีความจำเป็นต้องค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียน  ครูจะต้องพัฒนาสื่อประเภทหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องราวในชุมชนและสนับสนุนให้ปราชญ์ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความต้องการของชุมชนรวมทั้งให้ข้อมูลท้องถิ่นในเรื่องราวต่างๆที่ครูจะนำมาเขียนเป็นหนังสือให้เด็กได้เรียนรู้เพราะหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ครูเขียนขึ้นโดยมีข้อมูลท้องถิ่นที่ถูกต้องจะเป็นการสื่อการเรียนการสอนและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งที่ผู้เรียนจะได้ใช้ในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆในท้องถิ่นของตนซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือเรียน  ผู้วิจัยจึงคิดหลักสูตรเพื่อฝึกอบรมครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าม่วงให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนต้องการเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าของผู้เรียนนอกจากนี้การที่ผู้เรียนได้อ่านเรื่องที่มีความหมายและเพิ่มพูนความรู้จะทำให้ผู้เรียนรักการอ่านส่วนครูก็สามารถนำความรู้ไปใช้ในการฝึกให้ผู้เรียนเขียนเรื่องราวต่างๆได้เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการเขียนตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้นอกเหนือจากการเรียนรู้เนื้อหาในหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ประกอบการเรียนรู้สาระต่างๆแล้ว

ผลการวิจัยจากการใช้หลักสูตรจัดฝึกอบรมเรื่อง การเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับครูประถมศึกษา พบว่าครูประถมศึกษามีความต้องการเนื้อหาการฝึกอบรมเกี่ยวกับความสำคัญในการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมแนวทางและขั้นตอนในการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นการใช้ภาษาในการเขียนการวาดภาพประกอบการจัดทำรูปเล่มเกณฑ์คุณภาพในการพิจารณาหนังสือรวมทั้งแนวทางการนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่เขียนไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนโดยต้องการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในรูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการและข้อมูลท้องถิ่นที่ต้องการนำมาเขียนได้แก่ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อศิลปหัตถกรรมรวมทั้งวิถีชีวิตของคนในชุมชน  และยังพบอีกว่า ความสามารถในการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมของครูประถมศึกษาสามารถเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 8 เล่มประกอบด้วย 1) บ้านสวนของคุณย่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2) ความสงสัยของหนูนิด มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ของกล้วย ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่น ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านภูมิปัญญาและเทคโนโลยีท้องถิ่น 3) ลูกหนูหาคู่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม 4) ทุ่งทองของต้นข้าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้าน ที่มาของชื่อตำบล ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น 5) ยายสอน…หลานเล่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม 6) ตั๊กแตนแสนสวย มีเนื้อหาเกี่ยวกับหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญา ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านศิลปหัตถกรรม 7) ตำนานบ้านทอง มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านที่มาของชื่อวัด ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้านประวัติความเป็นมาของสถานที่สำคัญ  8) มหัศจรรย์พญาไร้ใบ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ของสมุนไพรท้องถิ่น ใช้ข้อมูลท้องถิ่นด้าน      ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีท้องถิ่น ซึ่งหนังสือทุกเล่มเป็นหนังสือที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ ครบถ้วน มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีและหนังสือทั้ง 8 เล่ม มีคุณภาพในด้านการใช้ภาษามากที่สุด รองลงมาคือ คุณภาพในด้านเนื้อหา และในด้านคุณลักษณะของหนังสือที่ดีตามลำดับ และคุณภาพตามเกณฑ์ย่อยรายด้าน พบว่า ด้านเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของชาติและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชนและด้านความยาวของเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน มีคุณภาพสูงสุด ด้านเทคนิคการนำเสนอมีคุณภาพต่ำสุดและครูประถมศึกษามีความคิดเห็นว่า เป็นการอบรมที่ดีน่าสนใจ

จากงานวิจัยจะเห็นว่าผู้วิจัยเห็นความสำคัญของข้อมูลท้องถิ่นในการนำมาจัดการเรียนการสอน จึงจัดอบรมการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับครูประถมศึกษา เพื่อให้ครูเห็นความสำคัญและใช้ข้อมูลท้องถิ่นของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งถือเป็นแนวทางนำร่องให้ครูมีวิธีการจัดการข้อมูลท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวครูอย่างเป็นระบบและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนและครูผู้สอน  และกล่าวได้ว่า เนื่องจากทุกท้องถิ่นย่อมมีประวัติความเป็นมามีวิถีชีวิตและสถานที่แตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีสิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมในแต่ละชุมชนแตกต่างกันบุคคลในแต่ละชุมชนมีความภาคภูมิใจในด้านต่างๆไม่เหมือนกันดังนั้นการจะปลูกฝังความรักความหวงแหนความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนได้จะต้องให้บุคคลในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเองอย่างลึกซึ้งอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นชุมชนที่เข็มแข็งครูจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นของตนตั้งแต่ยังเล็ก 

จากการศึกษางานวิจัยแต่ละเรื่องพบว่างานวิจัยแต่ละเรื่องให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนพอสรุปได้ดังนี้ดังนี้

1. ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครูผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยการทำความเข้าใจกิจกรรมการเรียนรู้ ศึกษาวิธี ใช้สื่อเสริมและทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง

2. ขณะดำเนินการกิจกรรมการเรียนรู้ ครูต้องมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่เข้าใจ ครูผู้สอนต้องคอยช่วยชี้แนะหรืออธิบายช่วยเหลือนักเรียนตลอดเวลา การเรียนการสอนอาจเกินเวลาที่กำหนดในกรณีที่นักเรียนไม่เข้าใจสาระการเรียนรู้บางเรื่อง อาจต้องใช้เวลาแนะนำ อธิบาย หรือยกตัวอย่าง ซึ่งครูอาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม โดยอาจให้ทำแบบฝึกเป็นบางส่วนและนำไปฝึกในชั่วโมงต่อไปได้

3. ครูผู้สอนควรมีแนวทางนำสื่อที่เป็นข้อมูลท้องถิ่นที่สร้างขึ้นไปใช้ ประกอบการสอนเพิ่มเติม สอนเสริม ในระดับชั้นต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

4. ควรนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ไปเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นต่าง ๆ ต่อไป

                5. ควรรณรงค์ ส่งเสริมให้ครูนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยให้ครอบคลุมทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

                6. ควรมีการศึกษาด้านเจตคติและผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนที่นักเรียนมีต่อวิชาภาษาไทย หลังจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อหรือวิธีสอนที่ใช้ข้อมูลท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน

                จากการสรุปข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ศึกษามา ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์สำหรับครูผู้สอนที่จะได้ดำเนินการในการนำข้อมูลท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอนให้สมบูรณ์และเกิดประโยชน์กับนักเรียนมากยิ่งขึ้นต่อไป  และการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ยังพบอีกว่าเป็นแค่ตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้สื่อ นวัตกรรม หรือวิธีสอน บางอย่างเท่านั้นในการนำข้อมูลท้องถิ่นเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการจัดการเรียนการสอน แต่สื่อ นวัตกรรม และวิธีสอน มีอีกเป็นจำนวนมากที่ครูสามารถนำข้อมูลท้องถิ่นเข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดรูปแบบสื่อ นวัตกรรม รูปแบบวิธีสอน เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของครูผู้สอนที่จะคิดนำข้อมูลท้องถิ่นไปจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างไร โดยจากการศึกษางานวิจัยส่วนใหญ่แล้วการจัดการสอนหรือการใช้สื่อ นวัตกรรมการสอน หรือวิธีการสอนใดนั้น ต้องคำนึงถึง วัยของผู้เรียน  ความสนใจของผู้เรียน  วัตถุประสงค์และเนื้อหา สาระการเรียนรู้ และการใช้สื่อ นวัตกรรม หรือวิธีสอนนั้นอย่างคุ้มค่า ได้ประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุดเพื่อให้ผู้เรียนได้มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับจิตสำนึกรัก หวงแหน ภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน 

 

บทสรุป

 

                กรมวิชาการ (2540 : 12, อ้างถึงใน นิตยา บุญศรี 2542 : 3) กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องการเน้นให้ผู้เรียนรู้จักท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนนั้น นอกจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ ชีวิต อาชีพเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่นแล้ว จะต้องนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นทรัพยากรมนุษย์สร้างขึ้นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับชีวิต สภาพเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง จนสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษาตามหลักสูตร ซึ่งตรงกับแนวคิดของชาตรีสำราญ(2545 : 5) กล่าวว่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น เป็นประเพณี เป็นสิ่งของมรดกพื้นบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกันซึ่งเยาวชนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้และควรเรียนรู้นอกจากนี้พรชัยภาพันธ์ (2545 : 4)กล่าวไว้ว่าทรัพยากรอันล้ำค่าของชาติและท้องถิ่นคือความรู้และประสบการณ์ที่ผู้คนในท้องถิ่นได้เก็บสั่งสมถ่ายทอดและอนุรักษ์สืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานสิ่งเหล่านี้คือต้นทุนทางวัฒนธรรมที่โรงเรียนสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษาแก่เยาวชนโดยจัดเป็นห้องปฏิบัติการทางวัฒนธรรมหรือแหล่งวิทยาการทางการศึกษาที่มีคุณค่าเพื่อลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและเพื่อความเป็นไทยสืบไป

                นักวิชาการหรือผู้วิจัยข้างต้นต่างก็ให้ความสำคัญของเรื่องราวและคุณค่าของท้องถิ่นทั้งสิ้น  จากการศึกษาพบว่าการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นส่วนมากเป็นการสร้างสื่อ นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการอ่าน เช่น การสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่านจากเรื่องราวข้อมูลท้องถิ่นต่าง ๆ หากแต่ผู้ศึกษามีความต้องการให้ครูผู้สอนภาษาไทย อันเป็นครูที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภูมิปัญญาและชี้นำให้นักเรียนได้เกิดความตระหนัก รัก หวงแหนและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ได้คิดหาวิธีการอื่น ๆ ที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ในการนำข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการตอกย้ำให้ครูผู้สอนได้เห็นคุณค่าของข้อมูลท้องถิ่นที่หาได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่นำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดสรรให้เกิดคุณค่าทางปัญญา และถ่ายทอดคุณค่านั้นไปสู่นักเรียน เพราะการเรียนรู้ต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีและฝังรากอย่างมั่นคงและยั่งยืน ครูภาษาไทยจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องเป็นผู้ยอมรับและเห็นคุณค่า เป็นต้นแบบที่ดีในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ โดยการนำข้อมูลท้องถิ่นที่มีคุณค่ามากมายเข้ามาจัดกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบวิธีการที่สามารถจะพึงกระทำได้

ผู้ศึกษาทำได้เพียงแค่การตอกย้ำให้ครูผู้สอนเห็นความสำคัญในข้อมูลท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ถ้าครูผู้สอนไม่เริ่มกระทำหรือมัวแต่คิดว่าเป็นสิ่งที่มีผู้ใช้ข้อมูลท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนมากมายแล้ว    ทำให้กลายเป็นวิธีการที่เก่า ล้าสมัย ถ้าทุกคนคิดแบบเดียวกันก็รังแต่จะทำให้สิ่งมีค่าของท้องถิ่นเสื่อมหายไปตามความคิดและกาลเวลา อีกทั้งยังทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งเป็นสิ่งที่รียกได้ว่าเป็นรากเหง้าแห่งปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับบรรพบุรุษของนักเรียน หากเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ที่ผู้ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการเรียนรู้ก็คือ ครู นั่นเอง  เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ครู ผู้ซึ่งเป็นผู้ให้โอกาสและให้ความรู้กับนักเรียนจะนิ่งเฉยได้อย่างไร หันมาเป็นผู้สร้าง ผู้จุดประกาย ให้นักเรียนได้เกิดความตระหนัก รัก หวงแหน และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นำข้อมูลท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่คงทนและยั่งยืนต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการ. (2539) .แนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์      

                      คุรุสภาลาดพร้าว.

กรมวิชาการ. (2546). เอกสารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544.  กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์

                      คุรุสภาลาดพร้าว.

กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (๒๕๕๒). หลักสูตรแกนกลาง

                    การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค.  (2549) . ข้อมูลท้องถิ่น : ทฤษฎีสู่การ

                    ปฏิบัติ .  นครปฐม : ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค.

ฆนัท  ธาตุทอง. (2550). การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น. นครปฐม : เพชรเกษมการพิมพ์.

จิตติญา กล่อมเจ๊ก. (2551).  การเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนสะกดคำภาษาไทย ก่อนและหลังการ

                   จัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี(S-R)2 โดยใช้สื่อภูมิปัญญาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 .

                    วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

ชาตรีสำราญ.(2545) . จากหลักสูตรแกนกลางสู่หลักสูตรสถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิ

                   สดศรีสฤษดิ์วงศ์.

ถวัลย์  มาศจรัส. (2549).คู่มือการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรม พัฒนาการทาง

                   ประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น . กรุงเทพฯ : ธารอักษร.

นิตยาบุญศรี. (2542). การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนต้นแบบ

                    การพัฒนาหลักสูตรสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์

                    ครุศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุปผา  พงษ์ไพบูลย์. (2548). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูล

                    ท้องถิ่นสำหรับครูประถมศึกษา . วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร :มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เบญจมาศ   อยู่เป็นแก้ว. (2545). การสอนแบบบูรณาการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้.

ประพิณพรเย็นประเสริฐ. (2548) . การพัฒนาแบบฝึกการอ่านจับใจความภาษาไทย โดยใช้สื่อท้องถิ่น

                   นนทบุรีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 . วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต.

                  กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

พรชัยภาพันธ์. (2545,กรกฎาคม).“หลักสูตรท้องถิ่น,”วารสารวิชาการ .5(7) , 4.

พรพันธุ์  เขมคุณาศัย. (2554). สอนด้วยหัวใจ . ตรัง : นกเช้าสำนักพิมพ์.

พรพันธุ์  เขมคุณาศัย และคณะ. (2554). โครงการวิจัย การจัดการความรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชน : การ

                   บูรณาการ เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดของเยาวชน .

                  สงขลา : มหาวิทยาลัยทักษิณ.

พรรณฤนันท์  ละอองผล. (2546). “ครูภาษาไทยกับบทบาทด้านภูมิปัญญาไทย”, 60 ปี มหาวิทยาลัย

                  เกษตรศาสตร์ : ประมวลบทความทางการศึกษา การจัดการศึกษาตามแนวปฏิรูปการ

                 เรียนรู้ . (หน้า 37 – 48). นนทบุรี : พี.เอส. พริ้นท์ .

วงเดือนแสงผึ้ง. (2548). การพัฒนาแบบฝึกการเขียนสะกดคำโดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับนักเรียนชั้น

                 ประถมศึกษาปีที่ 3 . วิทยานิพนธ์  ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิเชียร วงค์คำจันทร์. (2545). แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น.  ขอนแก่น:โรงเรียนบ้านกุดเชียงมี.  สืบค้น

                เมื่อ 30 กรกฎาคม 2555, จากhttp://school.obec.go.th/bankudchiangmee /vicakan3.htm.

ศิริพร  พรหมมณีและคณะ. (2547). การสร้างบทร้อยกรองนิทานพื้นบ้านจังหวัดเลย เป็นหนังสือส่งเสริม

                การอ่านวิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนภูเรือวิทยา อำเภอภูเรือ จังหวัด

               เลย . วิทยานิพนธ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต. พิษณุโลก : มหาวิทยาลัยนเรศวร.

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. (2550). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 . กรุงเทพฯ :

อุดม   เชยกีวงศ์. (2545). หลักสูตรท้องถิ่น : ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนรู้ . กรุงเทพมหานคร :

             สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 จำกัด.

 

 

 

About kruatp

ครูผู้สอนภาษาไทย โรงเรียนปาล์มพัฒนวิทย์ อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต16 สงขลา-สตูล

Posted on 03/09/2012, in Uncategorized. Bookmark the permalink. 2 ความเห็น.

  1. อยากให้ลูกพูดได้ 2 ภาษาต้องทำอย่างไร??
    http://new-parenting.com/Baby-Development/Learn_English_Kids.html

  2. ขออภัยในความผิดพลาดของบรรณานุกรมนะครับ พอเอาข้อความมาลงในบล็อก ข้อความเคลื่อนหมดเลยครับ

ใส่ความเห็น